ระบบหายใจ
จากความรู้ในระบบหมุนเวียนเลือด นอกจากเลือดจะลำเลียงอาหารไปสู่ส่วนต่าง ๆ ของร่างกายแล้ว ภายในเลือดยังมีแก๊สสำคัญที่เกี่ยวข้องกับการดำรงชีวิตของมนุษย์ คือ แก๊สออกซิเจน(O2) และแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์(CO2) อยู่ด้วย
ระบบหายใจ คือ ระบบที่ร่างกายแลกเปลี่ยนแก๊ส โดยร่างกายจะรับแก๊สออกซิเจนที่อยู่ภายนอกเข้าสู่ร่างกาย และขับแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์ออกจากร่างกาย อวัยวะที่สำคัญในระบบนี้ได้แก่ จมูก หลอดลม ปอด กล้ามเนื้อกระบังลมและกระดูกซี่โครง
จมูก ทำหน้าที่ในการนำอากาศเข้าสู่ร่างกายและรับรู้กลิ่น ภายในจมูกจะมีขนเล็ก ๆ ทำหน้าที่กรองฝุ่นละอองและมีเยื่อเมือกหนาบุอยู่ คอยดักจับเชื้อโรคและมีกลุ่มประสาทสัมผัสกลิ่นคอยรับกลิ่น อากาศที่สูดหายใจเข้าไปเมื่อผ่านโพรงจมูกแล้วจะลงสู่คอหอย ลิ้นไก่ จะช่วยปิดโพรงจมูกและช่องปากเพื่อมิให้อากาศไหลกลับ
หลอดลม จะทอดลงไปในช่องอกปลายแยก เป็นขั้วปอดทั้งสองข้าง เป็นท่อทางผ่านของอากาศและออกจากปอดที่ใหญ่ที่สุด
ปอด เป็นอวัยวะที่มีลักษณะคล้ายฟองน้ำ ประกอบด้วยถุงลมเล็ก ๆ เป็นจำนวนมาก ถุงเหล่านี้ยืดหยุ่นและหดตัวได้ ปอดจะตั้งอยู่ภายในทรวงอกทั้งสองข้าง ตรงกลางระหว่างขั้วปอดเป็นที่ตั้งของหัวใจ ปอดซีกขวาจะมีขนาดใหญ่กว่าปอดซีกซ้าย ปอดทั้งสองข้างทำหน้าที่เหมือนกันคือฟอกโลหิตดำให้เป็นโลหิตแดง โดยการถ่ายเอาแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์(CO2) และน้ำ(H2O) ออก แล้วเติมออกซิเจน(O2 ) เข้าไป
กระบังลมและซี่โครง เป็นกลไกในการหายใจ กล่าวคือ ขณะที่ปริมาณแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์ในกระแสเลือดมีปริมาณมาก สมองจะสั่งงานมายังกระบังลมและซี่โครง ให้กระบังลมหดตัวและซี่โครงเคลื่อนตัวสูงขึ้นทำให้เกิดการหายใจเข้า หรือ ขณะที่กระบังลมขยายตัว และซี่โครงเคลื่อนตัวต่ำลงทำให้เกิดการหายใจออก
โดยทั่ว ๆ ไปแล้วคนปกติจะมีอัตราการหายใจประมาณ 14-18 ครั้งต่อนาที การหายใจเป็นไปโดยอัตโนมัติ เราไม่สามารถกลั้นหายใจได้เกิน 1 นาที อย่างไรก็ตามอัตราการหายใจจะเร็วหรือช้าขึ้นอยู่กับปัจจัยต่อไปนี้
1.อายุ
- เด็กทารกหายใจประมาณ 30–40 ครั้งต่อนาที
- ผู้ใหญ่ หายใจประมาณ 12-16 ครั้งต่อนาที
2.ภาวะของร่างกาย
- ขณะที่ออกกำลังกายหรือเป็นไข้ การหายใจจะเร็วหรือแรงเพื่อให้ร่างกายได้รับก๊าซออกซิเจน
- ขณะนอนหลับ ร่างกายจะทำงานน้อยลง จึงต้องการก๊าซออกซิเจนน้อยกว่าปกติ การหายใจจะช้าลง
กล่าวโดยสรุป สภาพของร่างกาย การวิตกกังวล อารมณ์ กิจกรรมที่ทำและวัย มีผลต่ออัตราการหายใจ เด็กทารกจะมีอัตราการหายใจสูงกว่าเด็กโตและผู้ใหญ่
1. พยายามอยู่ในที่ที่มีอากาศบริสุทธิ์ เพื่อปอดจะได้รับก๊าซออกซิเจนเพียงพอ
2. ไม่สวมเสื้อผ้าหรือเข็มขัดที่รัดตึงจนเกินไป เพราะปอดจะขยายตัวไม่สะดวก
3. สวมเสื้อผ้าให้อบอุ่นอยู่เสมอ ในขณะที่อากาศเย็น
4. ไม่สูบบุหรี่ และไม่คลุกคลีกับผู้ป่วยที่เป็นไข้หวัดหรือวัณโรค เพราะอาจจะติดเชื้อได้
5. ยืนหรือนั่งตัวตรง เพื่อให้ปอดทำงานได้สะดวก
6. ควรออกกำลังกายอยู่เสมอ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น